ภาษีรถยนต์ทุกชนิดจะมีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ในปีหน้านี้ (พ.ศ.2559) เป็นต้นไป ซึ่งจะคิดตามอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แทนการคิดตามความจุกระบอกสูบแบบเดิม ทำให้รถยนต์ส่วนใหญ่ที่ขายอยู่ในตลาด มีราคาสูงขึ้น เพราะต้นทุนค่าภาษีจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-10 % โดยรถที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อย จะเสียอัตตราภาษีต่ำกว่ารถที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการยานยนต์ไทย

เปรียบเทียบภาษีสรรพสามิตรถยนต์ อัตราเก่า กับ ใหม่ 

car-tax-2016-01

ความแตกต่างของภาษีสรรพสามิตรถยนต์ปี 2559 แต่ละประเภทดังนี้

 แบบที่ 1 : อีโคคาร์ เฟส 2
อัตราภาษีปรับให้ถูกลง โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ สนับสนุนรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรือ อีโคคาร์ เฟส 2 อย่างชัดเจน เพราะเป็นรถที่ประหยัดน้ำมัน ประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นรถที่เหมาะสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันของคนไทย โดยรถยนต์โครงการ อีโคคาร์ เฟส 2 ที่ปล่อยไอเสียต่ำกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษีเพียง 14 % เท่านั้น แต่ถ้าเกิน จะเสีย 17 % เท่ากับ อีโคคาร์ เฟส 1
แบบที่ 2 : รถเก๋ง/เอสยูวี ไม่เกิน 2,000 ซีซี ภาษีขึ้น 3-10 %
รถยนต์นั่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาด มีตั้งแต่ รถยนต์ระดับซับคอมแพคท์ จนถึงรถยนต์ระดับพรีเมียมหลายรุ่น ที่หันมาใช้เครื่องยนต์ความจุน้อยลง รวมทั้งเอสยูวีบางรุ่นด้วยโดยในอัตราภาษีแบบเก่า จะเสียเพียง 25 % เท่านั้น

  • ส่วนอัตราใหม่ ถ้าปล่อย CO2 ไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร จะต้องเสียภาษีเพิ่มเป็น 30 %
  • ส่วนรถบางรุ่นที่รองรับน้ำมัน E85 เช่น ฮอนด้า แจ๊ซ จะเสีย 25% เท่าเดิม
รถยนต์คอมแพคท์ ที่มีขนาดเครื่องยนต์ 1,780-2,000 ซีซี และรองรับน้ำมัน E85 อัตราเดิมเสีย 22 %
  • ส่วนอัตราใหม่ รุ่นที่ปล่อย CO2 ไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียเพิ่มเป็น 25 %
  • ส่วนรุ่นที่ปล่อยในพิกัด 151-200 กรัมต่อกิโลเมตร เสียเพิ่มเป็น 30 %
  • ส่วนรถที่รองรับน้ำมัน E20 จากเดิมเสีย 25 % ก็จะต้องเพิ่มเป็น 30 % หรือ 35 % ตามปริมาณการปล่อยไอเสีย
รถยนต์นั่งขนาดกลางและเอสยูวีหลายรุ่น ที่ใช้เครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร รถระดับนี้ ส่วนใหญ่ยังคงปล่อยไอเสียในพิกัด 151-200 กรัมต่อกิโลเมตรอยู่ ดังนั้นจะเสียภาษี 35 % หรือ 30 % ขึ้นกับน้ำมันที่รองรับ
นอกจากนี้ รถยนต์ระดับพรีเมียม ตั้งแต่ขนาดซับคอมแพคท์ จนถึงขนาดกลางหลายรุ่น ก็จะถูกคิดภาษีเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณการปล่อยไอเสียด้วย
แบบที่ 3 : เก๋ง/เอสยูวี 2,001-2,500 ซีซี ภาษีแพงขึ้น
ในพิกัดนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์นั่งและเอสยูวีขนาดกลาง รวมถึงรถยนต์ระดับพรีเมียมบางรุ่น  ซึ่งเดิมเสียภาษี 30 % และ 27 % ขึ้นอยู่กับว่ารองรับน้ำมัน E20 หรือ E85 ซึ่งเท่าที่สำรวจรถในตลาด พบว่า รถที่ใช้เครื่องยนต์ระดับนี้ จะปล่อยไอเสีย 151-200 กรัมต่อกิโลเมตร ดังนั้นจะถูกเพิ่มภาษีเป็น 35 % สำหรับรถที่รองรับน้ำมัน E20 และ 30 % สำหรับบางรุ่นที่รองรับน้ำมัน E85
แบบที่ 4 : พิคอัพ ปล่อยไอเสียเกิน 200 กรัม/กิโลเมตร
จะเสียภาษี 3 % สำหรับรุ่นไม่มีแคบ 5 % สำหรับรุ่นมีแคบ และ 12 % สำหรับรุ่น 4 ประตู แต่ถ้าปล่อยเกินจากนี้ จะเสียเพิ่มขึ้นเป็น 5 % 7% และ 15 % ตามลำดับ จากข้อมูลปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าไอเสียเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร ซึ่งจะส่งผลให้โดนขึ้นภาษีเกือบทุกรุ่น
แบบที่ 5 : พีพีวี รถพิคอัพดัดแปลง หรือพีพีวี ที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดไม่เกิน 3,250 ซีซี
จ่ายภาษีเพิ่ม  จากเดิมเสียภาษี 20 % ทุกรุ่น

ในอัตราใหม่จะเพิ่มเป็น 25 % สำหรับรถที่ปล่อยไอเสีย ไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร และ 30 % สำหรับรถที่ปล่อยไอเสียเกิน ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ๋นั้นยังมีค่าไอเสียเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร หมายความว่า ในปี 2559 รถพีพีวี จะเสียภาษีแพงขึ้นอีก 10 % แทบทุกรุ่น

แบบที่ 6 : ไฮบริด เสียเท่าเดิม ภายใต้เงื่อนไขใหม่
จากเดิม รถยนต์ไฮบริดทุกรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ไม่เกิน 3,000 ซีซี จะเสียภาษี 10 % เท่ากัน
  • รถยนต์ไฮบริดที่ปล่อยไอเสียไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตรเท่านั้น จึงจะเสียอัตราเดิมที่ 10 %
  • ถ้ามากกว่านั้น ภาษีจะเพิ่มเป็น 20 %

การปรับอัตราภาษีใหม่นี้เป็นผลดีต่ออนาคตในระยะยาว และเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่วงการยานยนต์ไทย และกระตุ้นให้ผู้ผลิต พัฒนา และสร้างสรรค์รถยนต์ที่ประหยัดพลังงานและปล่อยไอเสียต่ำให้คนไทยจะได้ใช้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น

สรุป ภาษีใหม่ = มาตรฐานใหม่

อัตราภาษีใหม่นี้ คาดว่าจะทำให้รถยนต์ส่วนใหญ่ที่ขายอยู่ในตลาด มีราคาสูงขึ้น เพราะต้นทุนค่าภาษีจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-10 %

อย่างไรก็ตาม ภาษีใหม่นี้ จะสร้าง “มาตรฐานใหม่” ให้แก่วงการยานยนต์ไทย โดยจะกระตุ้นให้ผู้ผลิต พัฒนา และสร้างสรรค์รถยนต์ที่ประหยัดพลังงาน และปล่อยไอเสียต่ำ เพื่อให้อยู่ในพิกัดภาษีที่เหมาะสม ดังนั้น ในระยะยาว คนไทยจะได้ใช้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างแน่นอน

TsupamaN เรียบเรียง ข้อมูลจาก www.motorexpo.co.th

Comments