บริหารต้นคอถูกวิธี ป้องกันกระดูกคอเสื่อมเร็ว

การเสื่อมของกระดูกคอ เริ่มจากความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกสันหลังในเชิง ทำให้เกิดสภาพแรงกดที่มากเกินไป

รวมทั้งหมอนรองกระดูก เมื่อเกิดการเสื่อมของหมอนรองกระดูก ปริมาณน้ำในหมอนรองกระดูกลดน้อยลง ทำให้ช่องว่างระหว่างกระดูกคอแคบลง เมื่อมีแรงกดบริเวณคอซ้ำๆ จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างกระดูกใหม่บริเวณขอบกระดูก

neck-less

กระดูกที่สร้างใหม่นี้อาจไปกดเนื้อเยื่อบริเวณนั้น รวมถึงรากประสาทที่ออกจากโพรงกระดูกคอ ทำให้เกิดอาการปวดคอ และ/หรือมีอาการปวดร้าวลงแขนได้ เมื่อมีการเสื่อมมากขึ้น ข้อต่อจะหลวมและไม่มั่นคงทำให้ผู้ป่วยปวดคอเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ แต่บางรายอาจจะไม่รู้สึกปวดแต่จะรู้สึกเมื่อยคอ การเสื่อมของกระดูกคอระดับที่ 5 และ 6 พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวจากการใช้ชีวิตประจำวันมากที่สุด อาการปวดคอจากกระดูกคอเสื่อม เริ่มพบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ปัจจุบันอาจพบได้ในกลุ่มผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี

กระดูกคอประกอบด้วย กระดูกต่อเรียงกัน 7 ชิ้น แต่ละชิ้นมีหมอนรองกระดูกรองรับสลับกันอยู่ กระดูกคอเป็นโครงสร้างของกระดูกสันหลังที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด เมื่อเทียบกับกระดูกสันหลังส่วนอื่น ผลของโครงสร้างที่ผิดปกติ (Posture Imbalance/ร่างกายเสียความสมดุล) ได้มากนี่เอง ทำให้กระดูกคอเกิดการบาดเจ็บ หรือเสื่อมสภาพได้โดยง่าย ซึ่งเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการใช้งานอย่างหนัก จากการที่ได้กล่าวในเบื้องต้นเกี่ยวกับการเกิดกระดูกคอเสื่อม

ปัจจัยที่ช่วยเสริมทำให้เกิดการเสื่อมของกระดูกคอได้เร็วขึ้น

  • การมีท่าทางที่ผิดๆ เช่น การนอนหมอนสูงเกินไป นั่งก้มทำงาน หรือแหงนคอติดต่อกันเป็นเวลานานบ่อยๆ นั่งหลับสัปหงก เอียงคอหนีบโทรศัพท์ เป็นต้น ท่าทางเหล่านี้ทำให้กระดูกคอไม่อยู่ในท่าที่สมดุล (neutral position) คือท่าทางของคอที่ตั้งตรง ไม่หมุนบิดก้ม ตะแคง หรือเงยมากเกินไปหากมีการใช้ผิดลักษณะนานๆ จนเกิดเป็นนิสัย ก็ทำให้กระดูกคอเสื่อมเร็วขึ้นได้
  • บุหรี่ เป็นปัจจัยทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกระดูกสันหลัง
  • การได้รับอุบัติเหตุ รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ กระดูกคอเกิดการกระแทก หรือคอเกิดการเหวี่ยงอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของหมอนรองกระดูก หรือเอ็นข้อต่อกระดูกได้
  • กล้ามเนื้อบริเวณคอ หรือสะบักอ่อนแรง ตึงหรือขาดความทนทาน เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของแขน และสะบักบางมัด ไปเกาะบริเวณกระดูกคอ ดังนั้นความผิดปกติของกล้ามเนื้อเหล่านี้จะส่งผลต่อกระดูกคอด้วย
  • บุคลิกภาพซึมเศร้า ห่อเหี่ยว คอตก ทำให้กระดูกคอไม่อยู่ในท่าที่สมดุล
  • สิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน หรืองานในชีวิตประจำวัน ไม่เหมาะสมกับสรีระของร่างกาย เช่น โต๊ะ เก้าอี้ สูงหรือต่ำเกินไป

อาการที่เป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นของโรคกระดูกคอเสื่อม

  • มีอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะในขณะที่มีการเคลื่อนไหวคอ รวมถึงการปวดของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า และไหล่
  • อาการปวดร้าวมาตามหัวไหล่ ต้นแขน และปลายแขน เนื่องจากการที่กระดูกคอเสื่อมไปกดเบียดต่อเส้นประสาท และระคายเคืองต่อเส้นประสาท
  • อาจตรวจพบอาการชา และอ่อนแรงลง ของกล้ามเนื้อในบริเวณแขน กรณีที่มีการกดทับเส้นประสาทเป็นเวลานาน
  • มีการจำกัดการเคลื่อนไหวของคอ โดยเฉพาะการแอ่นคอและเอียงคอไปทางด้านข้างการบริหารกล้ามเนื้อคอ

การออกกำลังคอให้เคลื่อนไหวคอได้ดี แต่ละท่าทำ 5-10 ครั้งต่อเซต 2-3 เซตต่อวัน

  • ก้มและเงยหน้า ค่อยๆ ก้มหน้าให้คางจรดกับอก แล้วเงยช้าๆ ให้มากที่สุด
  • ตะแคงซ้ายขวา หน้าตรงค่อยๆ ตะแคงซ้ายจนหูจรดไหล่ซ้าย แล้วตะแคงขวาในลักษณะเดียวกัน
  • หันหน้าซ้ายขวา หมุนศีรษะหันหน้าไปทางซ้ายช้าๆ โดยให้ปลายคางอยู่ในแนวเดียวกับไหล่ แล้วหมุนกลับมาด้านขวา

การออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยใช้มือต้านการเคลื่อนไหวของศีรษะในทิศตรงกันข้าม เกร็งไว้ 5-10 วินาที แล้วพักแต่ละท่าทำ 5-10 ครั้งต่อเซต 2-3 เซตต่อวัน

  • ก้มคอ ใช้มือกดที่หน้าฝากต้านกับความพยายามที่จะก้มศีรษะลง
  • เงยหน้า เอาฝ่ามือประสานเหนือท้ายทอย กดมาด้านหน้า ขณะที่พยายามเงยศีรษะไปข้างหลัง
  • ตะแคงคอ ใช้มือซ้ายวางที่ศีรษะเหนือหูซ้าย ต้านกับความพยายามตะแคงหน้าให้หูซ้ายไปจรดไหล่ แล้วกลับมาใช้มือทำแบบเดียวกัน
  • หันหน้า ใช้มือซ้ายออกแรงยันที่หน้าหูซ้าย ขณะที่พยามหันหน้าไปทางซ้าย แล้วสลับใช้มือขวาทำแบบเดียวกัน

สุขภาพดีไม่มีขายนะครับ ป้องกันไว้ดีกว่าต้องมานั่งแก้ปัญหาในภายหลัง

Comments